หลังจากที่ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่ นามว่า “Android L” ที่กูเกิลเปิดตัวในงาน “Google I / O” ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีแห่งอนาคตของ Google ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจ ทว่าสับสนงุนงง เพราะแต่ไหนแต่ไรเรารู้กันดีครับว่า รหัสเวอร์ชั่นของแอนดรอยด์จะกำหนดด้วยตัวเลข เช่น แอนดรอยด์ 4.4 ตามด้วยชื่อเล่นที่เป็นขนมอย่าง “คิทแคท” หรือ “จิงเจอร์เบรด”
ทว่า ทำไมครั้งนี้แอนดรอยด์ถึงมาแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ชื่อ “L” ละ ? เมื่อเทียบกับ iOS8 แล้วมีอะไรที่ L เหนือกว่าบ้างหรือไม่ ? และผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่น L ได้เมื่อไหร่ ? ลองมาดู 9 สิ่งใหม่ในแอนดรอยด์เวอร์ชั่นนี้กัน
ทำไมจึงเป็น Android L ?
เป็นคำถามที่ทุกคนสงสัย คำตอบหนึ่งที่พอจะเข้าทีก็คือ ณ ตอนนี้ “Android L” ยังคงเป็นแค่เวอร์ชั่นทดสอบสำหรับนักพัฒนาโปรแกรม [Developer Version] เท่านั้น ชื่อของมันจึงเป็นแค่ชื่อชั่วคราวไปก่อนครับทว่าถ้าสังเกตดี ๆ ตัว “L” ที่ใช้ในคราวนี้ก็ต่อจากตัว K ที่เป็นอักษรนำหน้าคำว่า “KitKat” ซึ่งหมายถึง “แอนดรอยด์ 4.4” ทางกูเกิลอาจกำลังลังเลอยู่ว่าจะใช้ชื่อขนมอะไรดีที่ขึ้นต้นด้วยตัว “L” มาตั้งเป็นชื่อเล่นของแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่
ดังนั้นที่เมืองนอกจึงมีการแซวว่า กูเกิลกำลังรอบริษัทผู้ผลิตขนมอะไรสักอย่างมาติดต่อลงโฆษณาเหมือนกับที่แอนดรอยด์ 4.4 ใช้ชื่อเล่นว่า “คิทแคท” สรุปสุดท้ายแล้วชื่อจริงของ “Andoid L” จะเป็นอะไร และมันจะห้อยท้ายด้วยเลขตัวไหน ระหว่าง 4.5 หรือขยับเป็น 5.0 เลย ? ต้องรอดูกันอีกทีครับ
มีอะไรใหม่ในแอนดรอยด์ L ?
ที่คาดการณ์กันว่าแอนดรอยด์ L น่าจะขยับเลขเวอร์ชั่นขึ้นไปเป็น 5.0 ก็เพราะว่ามันมีสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาเยอะมาก รวมแล้วกว่า 5,000 รายการ ทั้งสำหรับผู้ใช้งานและนักพัฒนา ทว่าหากจะสรุปรวมจุดใหญ่ ๆ แล้วก็นับได้ 9 อย่างด้วยกัน1. Material Designs : การออกแบบใหม่หมดจดตั้งแต่หัวจรดท้ายในแนวทาง “Flat Designs” ที่ดูเรียบแบนแต่สวยลงตัว ทำให้หน้าตาของแอนดรอยด์เวอร์ชั่น L นี้ดูสะอาดและเป็นระเบียบ โดยแรงบันดาลใจของ “Material Designs” ก็มาจากกระดาษและน้ำหมึกทว่าดีไซน์นี้ก็ยังคงเหลี่ยมมุมและแสงเงาในแบบสามมิติเอาไว้ สำหรับใครที่รู้สึกว่าหน้าตาของเมนูบนระบบแอนดรอยด์ดูไม่สวย ไม่ลงตัว หรือดูรกตาเมื่อเทียบกับฝั่ง iOS ละก็อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ทว่าก็มีเสียงวิจารณ์ออกมาอย่างหนักเช่นกันว่า “นี่มัน iOS ชัด ๆ”
2. Notifications : การแจ้งเตือนที่แอนดรอยด์ทำได้ดีกว่าระบบอื่น ๆ อยู่แล้วก็ยังได้รับการอัพเกรดขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น จากแต่ก่อนที่ต้องทำการปลดหน้าล็อกจอ ทว่าจากนี้ไป แอนดรอยด์ L จะแสดงการเตือนในลักษณะจอล็อกเลย โดยจัดแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ แยกกัน และสิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ แอนดรอยเวอร์ชั่นใหม่จะทำการเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้งานคนนั้น ๆ เลือกดูการแจ้งเตือนเรื่องอะไรบ่อย ๆ ก็จะคอยรายงานเรื่องดังกล่าวขึ้นมาไว้บนสุด เรียกว่าเรียนรู้จากพฤติกรรมมนุษย์นั่นเอง
3. Personal Unlocking : จากแต่ก่อนที่เราต้องปัดหน้าจอเพื่อปลดล็อก ทว่าจากนี้ไปไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะแอนดรอยด์ L สามารถอันล็อกจอภาพได้ด้วยตัวเองในสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น ในเวลาที่เราเชื่อมต่อมือถือกับหูฟังบลูทูธหรืออุปกรณ์บางอย่าง นอกจากนี้เรายังตั้งให้เครื่องปลดล็อกหน้าจอเมื่อเดินเข้าสู่สถานที่ที่กำหนดไว้ด้วยการตั้งค่า GPS อีกด้วย
4. 64 Bit Android Runtime : เป็นข้อมูลเชิงเทคนิคสักนิด แต่คิดง่าย ๆ ก็คือ แอนดรอยด์เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานจากเดิมที่เป็น “Dalvik” มาเป็น “ART [Android Runtime]” ที่ทำงานเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่า ทำให้การประมวลผลโดยรวมจะลื่นไหลกว่าเดิม และ Android L ก็ยังรองรับการใช้งานบนอุปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์แบบ 64 บิท เช่นเดียวกับทางฝั่ง iOS แล้ว
5. Project Volta : ชื่อเท่ ๆ ที่เห็นนี้คือนามของเครื่อง [API] ตัวใหม่ที่กูเกิลใช้ประมวลผลโปรแกรมต่าง ๆ บนเครื่อง ซึ่งจะช่วยให้การรัน App ต่าง ๆ ไวขึ้น ทว่ากลับกินไฟน้อยลง โดยกูเกิลยืนยันมาให้เลยครับว่าทันทีที่อัพเกรดเป็น Android L รับประกันได้ว่าเครื่องจะใช้งานได้นานยิ่งขึ้น อย่างน้อย ก็ 90 นาที ต่อวันเลยทีเดียว
6. Smart Search Box : แต่ก่อนช่องค้นหาข้อมูลบนหน้าจอโฮมของแอนดรอยด์จะดูไม่ค่อยมีประโยชน์นัก แต่จากนี้ไปกล่องเสิร์ชจะฉลาดขึ้น ด้วยการจดจำว่าผู้ใช้งานเคยค้นอะไรไปบ้าง และนำไปปรับปรุงการแสดงข้อมูลต่าง ๆ ครับ
7. Android For Work : เคยมีให้เห็นในระบบ BB10 ครับ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ตัวเครื่องของเราจะแบ่งโปรไฟล์เป็น 2 แบบแยกระหว่างชั่วโมงทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยแอนดรอยด์ L จะจำการตั้งค่าทุกอย่าง อาทิถ้าเป็นช่วงทำงานให้อีเมลหนึ่งเตือน แต่ Line ไม่ดัง นอกจากนั้นระบบแอนดรอยด์ L จะแยกเก็บข้อมูลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานด้วย ทำให้สมาร์ทโฟนของเราซ่อนความลับได้ดีกว่าเก่า และยังช่วยจัดการไลฟ์สไตล์ให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น
8. New Recent Apps : ปรับการแสดงผลให้สวยกว่าเดิม และยังจัดแสงเงาพร้อมขนาดที่แตกต่างกัน ทำให้เราสามารถสลับคำสั่งไปมาแบบ Multitasking ได้ง่ายกว่าเดิม
9. Provacy และ Security : เพิ่มการควบคุมเครื่องระยะไกลในกรณีที่ถูกขโมย, สั่งล็อกไม่ให้โจรทำการล้างเครื่อง [Factory Reset] ได้อีกต่อไป และยังเพิ่มความปลอดภัยในการซื้อขาย App บน Play Store ด้วย
ทั้งหมดนี้คือ 9 ข้อหลัก ๆ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการที่ Google ใส่ลงมาใน “Android L” ทว่าหากใครสนใจอยากรู้ครบทั้ง 5 พันกว่าอย่างก็แนะนำให้ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://developer.android.com/preview/index.html
Android L จะมาเมื่อไร ?
ณ ตอนนี้ก็คือ ใครที่เป็นกลุ่มนักพัฒนา [Deveroper] ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอนดรอยด์ L ที่ว่ามาติดตั้งได้แล้ว โดยเฉพาะคนที่ใช้งานสมาร์ทโฟนตระกูล Nexus อย่าง “Nexus 5” ทว่าจากการทดสอบช่วงสั้น ๆ จากหลายสำนัก พบว่า Android L ยังเต็มไปด้วยปัญหามากมายครับ ดังนั้นใครที่ไม่แน่จริงหรือไม่อยากเสี่ยงก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งไปลองจะดีกว่าส่วนเรื่องวันเวลาสำหรับ Android L เวอร์ชั่นสำหรับคนทั่วไปนั้นมีข่าวลือว่า Google จะปล่อยให้อัพเดตในฤดูใบไม้ร่วงของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือเดือนกันยายนเป็นต้นไป มันน่าสนใจเป็นพิเศษก็ตรงที่ iOS8 ตัวเต็มของจริงก็จะมาในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน และคาดว่าฝั่ง Apple จะเปิดตัว iPhone 6 ในฤดูใบไม้ร่วงเช่นเดียวกันด้วย
รุ่นไหนบ้างที่อัพเป็นแอนดรอยด์ L ได้ ?
ก็เช่นกันครับว่ายังไม่มีใครทราบ ทว่าเริ่มมีบางแบรนด์ที่ออกมาประกาศตัวว่า รุ่นท็อปของเราอัพเกรดเป็นแอนดรอยด์ L ได้อย่างแน่นอน หนึ่งในนั้นก็คือ HTC ที่การันตีว่าทั้ง One M7 และ One M8 จะได้รับแอนดรอยด์ L ทันทีที่กูเกิลปล่อยเวอร์ชั่นจริงออกมาไม่เกิน 3 เดือนณ ตอนนี้ที่ชัด ๆ ก็คือ Nexus 5 สามารถรันแอนดรอยด์ L ได้เมื่อรวมกับ One M7 และ One M8 ก็น่าจะแปลว่าแอนดรอยด์รุ่นท็อป ๆ ของปีก่อนน่าจะอัพเป็นแอนดรอยด์ L ได้ทั้งหมด ? แต่นั่นคือในเชิงฮาร์ดแวร์ครับ
บางแบรนด์ที่มีจำนวนรุ่นออกมามาก ๆ อาจจะเลือกพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะบางรุ่นที่ขายดี และเลือกที่จะทิ้งรุ่นที่ไม่ได้รับความนิยมไป ไม่ว่าใครจะถือรุ่นไหนก็ต้องตามข่าวกันดี ๆ
นี่ละครับคือ “Android L” แม้จะยังไม่มีชื่อจริง แต่ก็มีสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มมาให้เล่นให้ตกใจมากมาย นอกจากนี้แอนดรอยด์ L ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ เบราว์เซอร์โครม [Chrome] ที่ไวขึ้นในระดับ 60 เฟรมต่อวินาที และการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมภายนอกในอนาคต จำพวกนาฬิกา สมาร์ทวอทช์ หรือแอนดรอยด์แวร์ [Android Wear] ก็เหลือแค่รอลุ้นว่ามันจะมาจริงเมื่อไหร่ และชื่ออย่างเป็นทางการของ “L” จะย่อมาจากขนมอะไร ?
ที่มา : phandroid.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น