วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

NFC เทคโนโลยีรับส่งข้อมูลในอนาคต


          คาดกันว่า Near Field Communication หรือ NFC กำลังจะมาเป็นเทคโนโลยีสุดฮอตที่ได้รับการพูดถึงกันมากในอนาคตกันใกล้ เพราะในตอนนี้ได้มีสถาบันทางการเงินหลายแห่งกำลังทดสอบความเป็นไปได้ในการนำใช้งาน และค่ายมือถือหลายค่ายต่างก็กำลังจะเพิ่มคุณสมบัติ NFC นี้ให้กับมือถือรุ่นใหม่ๆ ของตน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ประโยชน์ของ NFC นั้นมักจะขึ้นชื่อว่าสามารถนำมาใช้งานแทนกระเป๋าสตางค์และบัตรเครดิตได้ แต่จริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริการชนิด location-based การจองตั๋ว หรือกระทั่งการขนส่ง
          ลองจินตนาการถึงยุคอนาคตอันใกล้ที่เราเพียงแต่พกพามือถือเครื่องเดียวแต่มีความสามารถหลายอย่างนอกเหนือจากการสื่อสารทั่วไปหรือใช้งานอินเตอร์เน็ต ลองนึกดูว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อ NFC สามารถทำให้มือถือของเราใช้ในการจับจ่ายใช้สอย เปิดประตูโรงแรม ใช้งานแทนบัตรประชาชน หรือใช้เป็นตั๋วเดินทาง

     Near Field Communication คืออะไร ?

          กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ NFC เป็นเทคโนโลยีไร้สายชนิดหนึ่งที่ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าวิทยุ [Electromagnetic Radio Field] ในการส่งผ่านข้อมูลจำนวนน้อยระหว่าง “ตัวส่ง” และ “ตัวรับ” เช่นระหว่างคีย์การ์ดและประตูโรงแรม เป็นต้น NFC มีความคล้ายคลึง กับ Bluetooth ในแง่ที่ว่าทั้งคู่เป็นเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารระยะสั้นเหมือนกัน และยังถือว่าเป็นซับเซ็ตของ RFID [Radio Frequency ID] เนื่องจากใช้คลื่นวิทยุในการระบุตัวตน [Identification] เช่นกันด้วย แต่ NFC มีคุณสมบัติเล็กน้อยที่ไม่เหมือนใครซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
          อย่างแรกเลยคือ NFC สามารถส่งผ่านข้อมูลได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น คือระหว่าง 4 – 10 เซนติ เมตร ในขณะที่ Bluetooth รองรับได้ถึง 10 เมตร และตัว RFID เองบางชนิดก็รองรับได้ไกลเป็นกิโล เมตรเลยทีเดียว ซึ่งข้อจำกัดนี้เองที่ทำให้ NFC เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่มีผู้คนมากๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าสัญญาณรบกวนหรือการดักรับสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต
          จุดเด่นของ NFC อีกอย่างหนึ่งคือสามารถเริ่มต้นการรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่า Bluetooth เพราะผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเข้าไปตั้งค่าใดๆ เนื่องจากอุปกรณ์ที่มี NFC จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้เวลาเพียง 1 ใน 10 วินาทีเท่านั้น นอกจากนี้ NFC ยังสามารถใช้เป็นตัวเร่งกระบวนการสื่อสารผ่านทาง Bluetooth ได้โดยการนำอุปกรณ์ทั้งคู่มาวางไว้ใกล้ๆ กัน
          สุดท้ายความเร็วในการรับส่งข้อมูลก็ยังต่างจาก Bluetooth ด้วย โดย NFC ทำงานที่คลื่นความถี่ 13.56MHz ISM band ซึ่งไม่ต้องมีใบอนุญาตและสามารถใช้งานได้ทั่วโลก สำหรับความเร็วสูงสุดนั้นจะอยู่ที่ 424KB/s ในขณะที่ Bluetooth จะทำงานที่ 2.4GHz และมีความเร็วสูงสุด 2.1MB/s

     NFC ทำงานอย่างไร

          อย่างที่ได้กล่าวไป NFC จะสามารถทำงานก็ได้ก็ต่อเมื่อมีตัวส่งและตัวรับเหมือนๆกับ Bluetooth แต่มีจุดเด่นคือตัวส่งนั้นจะสามารถสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าวิทยุ [RF] ที่สามารถให้พลังงานกับตัวรับได้ ซึ่งก็หมายความว่าตัวรับนั้นไม่จำเป็นต้องมีพลังงานอยู่ก็สามารถสื่อสารร่วมกับตัวส่งได้ด้วย จุดนี้เองที่ทำให้ NFC สามารถนำไปใช้บนป้ายราคาบนสินค้า สติ๊กเกอร์ กระเป๋ากุญแจ หรือบนการ์ดได้โดยที่ต้อง การแบตเตอรี่เพิ่มเติม
          ตัวอย่างการใช้งานง่ายๆ คืออีกหน่อยเพียงแค่เรานำมือถือที่รองรับ NFC  ไปถือไว้ใกล้ๆ กับโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่มีป้าย NFC นี้อยู่ก็สามารถรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างสั้นๆ รีวิว ตารางการฉายในโรงภาพยนตร์ใกล้เคียง หรือกระทั่งสามารถกดซื้อตั๋วออนไลน์ได้ ณ ตอนนั้นเลย ซึ่งในกรณีนี้มือถือของเราจะทำหน้าที่เป็น “ตัวส่ง” ซึ่งสามารถให้พลังงานกับป้ายบนโปสเตอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ตัวรับ” นั่นเอง
          อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นที่ตัวรับจะต้องเป็นชนิด passive ที่อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไรเสมอไป เพราะอุปกรณ์ NFC ทั้งตัวรับและส่งสามารถเป็นชนิด active ได้เหมือนกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราซื้อตั๋วหนังออนไลน์มาจากป้ายโปสเตอร์ดังกล่าวแล้วอยากจะซื้อคืนตั๋วโดยใช้มือถือนั้นก็สามารถทำได้ด้วยการนำไปวางไว้ใกล้ๆ กับเครื่องอ่านในโรงภาพยนตร์ซึ่งจะอ่านข้อมูลจากมือถือของเราเอง ในกรณีนี้ เครื่องอ่านก็คือ “ตัวส่ง” ในขณะที่มือถือของเราคือ “ตัวรับ”
          เท่าที่กล่าวไปอาจพอสังเกตได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ QR codes ในปัจจุบันค่อนข้างมาก ซึ่งก็จริง แต่ NFC จะมีความสะดวกสบายมากกว่าเพราะแทนที่เราจะต้องมาคอยสแกนบาร์โค้ด เราเพียงแต่นำมือถือของเราไปสัมผัสหรือถือไปใกล้ๆ กับตัวรับเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อย

     แล้วจะใช้ทำอะไรได้บ้าง

          ความสามารถของ NFC ที่ได้รับการโปรโมทตามข่าวในปัจจุบันมักจะเป็นเรื่องของการนำไปประยุกต์ใช้แทนกระเป๋าเงินในการใช้จ่ายชนิด micro payment หรือการใช้จ่ายเล็กน้อยเช่นการซื้อของตามร้านสะดวกซื้อหรือตามร้านกาแฟ ใช้แทนบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้าหรือแทนสมุดเช็ค เป็นต้น แต่นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้วเราสามารถนำ NFC ไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมากตามภาพล่าง
การขนส่งสาธารณะ: ความจริงนี่ก็จัดเป็นเรื่องเงินทองเหมือนกันนั่นแหละ แต่จะขอแยกมาเป็นหัวข้อย่อยเลยจะดีกว่า ในความเป็นจริงแล้วตามเมืองใหญ่ที่มีการจารจรหนาแน่น โดยเฉพาะเมืองหลวงของประเทศสารขัณฑ์นั้นสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเทคโนโลยีนี้ได้ดีมาก จึงไม่น่าแปลกใจทีตอนนี้ตามเมืองใหญ่หลายแห่งในโลกจะเริ่มโครงการนำร่องนำ NFC ไปใช้กับการขนส่งสาธารณะเช่นรถประจำทางบ้างแล้ว
          การซื้อตั๋ว: ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วหนัง คอนเสิร์ต การแสดงสด การประชุมสัมมนา การแข่งกีฬา หรือตั๋วเดินทาง ก็สามารถนำ NFC นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก
          กุญแจ: แน่นอนว่าอีกหน่อยเราคงไม่ต้องพะวงว่าจะทำกุญแจคอนโดหรือโรงแรมของเราหายอีกต่อไป เพราะข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดจะไปอยู่บนมือถือ เพียงแค่เราสัมผัสมือถือเข้ากับประตูห้องพักก็เป็นอันเรียบร้อย
          การซื้อของ: ไม่ว่าท่านจะเป็นเจ้าของร้าน หรือเป็นลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าสักชิ้นและต้องการรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าตัวนั้นก็สามารถทำได้โดยการนำมือถือไปวางใกล้ๆ กับป้ายที่มี NFC นี้ โดยข้อมูลที่แสดงออกมาอาจเป็นรีวิว ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง หรือราคาจากร้านใกล้เคียง
          เช็คอินและการรีวิวสถานที่: เมื่อเร็วๆ นี้ Google ได้ทดลองนำสติ๊กเกอร์ที่รองรับ NFC ไปแปะตามร้านอาหารและอาคารธุรกิจต่างๆ ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการทดสอบความสามารถในลักษณะนี้ จึงทำให้ผู้ใช้งานที่มีมือถือ NFC อยู่สามารถจัดเรตสถานที่หรืออ่านรีวิวร้านค้าต่างๆ ได้โดยใช้เทคโนโลยี NFC ที่น่าสนใจคือเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ landmark สำคัญในเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้สนใจ หรือนำไปใช้งานร่วมกับบริการ location-based อย่าง Foursquare ก็ยังไหว

     หนทางยังอีกยาวไกล ?

          ไม่มีหนทางใดโรยด้วยกลีบกุหลาบ ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้ NFC จะฟังดูวิเศษอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าหนทางจะไรซึ่งอุปสรรคซะทีเดียว
          ปัญหาอย่างแรกที่ NFC ต้องเผชิญจากแรงต้านก็คือด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งอาจแก้ไขได้ไม่ยากนักและยังพอมีเวลาอีกมากเพราะโครงการ NFC หลายๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งาน ดังนั้นยังพอมีเวลาอีกเหลือเฟือที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านของการเข้ารหัสข้อมูล การใช้พินโค้ด หรือเทคโนโลยีป้องกันอื่นๆ ทั้งนี้ จะว่าไปก็เหมือนกับบริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งหลายที่ไม่ได้รับความนิยมนักในตอนแรกด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ในปัจจุบันเราก็ใช้งานกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
          ปัญหาที่น่าสนใจกว่าคือการวางโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีให้แพร่หลาย ซึ่งก็คือปัจจุบันมือถือที่รองรับ NFC ยังมีอยู่น้อยมาก และจะทำอย่างไรให้บรรดาร้านค้าต่างๆ เห็นดีเห็นงามด้วยกับเทคโนโลยีนี้และยอมลงทุนติดตั้งเครื่องอ่าน NFC ให้มากขึ้นเหมือนกับเครื่องอ่านบัตรเครดิตหรือเครื่องแคชเชียร์คิดเงิน? แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ในช่วงข้ามคืนแน่ ที่น่าคิดคือประเด็นนี้เป็นปัญหประเภทไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ในแง่ที่ว่าเจ้าของร้านอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งนำ NFC มาใช้เพราะว่ายังมีอุปกรณ์รองรับน้อยและไม่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ผลิตมือถือและผู้บริโภค แต่ก็เพราะว่าเจ้าของร้านไม่เห็นความจำเป็นนั่นแหละที่ทำให้ผู้บริโภคไม่เห็นว่าทำไมต้องลงทุนซื้อมือถือเครื่องใหม่
          อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเทคโนโลยี NFC ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นแล้วในประเทศเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วนับร้านราย แต่เทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นนำไปใช้นั้นมีชื่อว่า FeliCa ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาโดย Sony แต่ก็กำลังวางแผนเปลี่ยนไปใช้ NFC แทนในอนาคตเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าลิขสิทธิ์
          Near Field Communication ได้รับการออกแบบมาให้การใช้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น ในแง่ชองผู้บริโภคแล้วก็มีแนวโน้มว่าต่อไปเราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวกมือ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย และสำหรับในแง่ของผู้ผลิตนั้นก็เชื่อว่าคงหวังว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะ NFC ลดขั้นตอนยุ่งยากต่างๆ ในการซื้อของลูกค้าลง
          เนื่องจาก NFC เป็นมาตรฐานเปิด ก็เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานเราก็จะได้เห็นอุปกรณ์หลากหลายประเภทที่รองรับเทคโนโลยีนี้ออกมาเต็มท้องตลาด ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ NFC สามารถแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็วและได้รับความนิยม แต่การใช้งานในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยแล้วคงต้องใช้เวลา เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากให้ต้องคำนึงถึง
          มีการประมาณไว้ว่า 1 ใน 5 ของสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือผู้บริโภคปี ค.ศ. 2014 จะรองรับ NFC หรือกว่า 300 ล้านเครื่องเพียงระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ ฉะนั้นเราคงต้องรอต่อไปอีกหน่อยกว่าที่เราจะสามารถโยนกุญแจหรือหักบัตรเครดิตของเราทิ้ง และพึ่งแต่มือถือของเราอย่างเดียว
          ถึงแม้ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นจริงได้ด้วย NFC แต่เทคโนโลยีดังกล่าวบนมือถือยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอย่างที่กล่าวไปก็คือ หลาย ๆ ที่ยังคงเป็นโครงการทดลองนำร่อง และนอกจากนั้นยังมีปัญหาให้ต้องขบคิดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานการใช้งานให้แพร่หลาย หรือการรักษาความปลอดภัย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น