วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

10 เทคนิคน่ารู้ ก่อนซื้อสมาร์ทโฟนมือสอง

          
          ช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนัก ตลาดมือถือเองก็เช่นกัน มีการหั่นราคาแบบถล่มทลายหลายรุ่น ที่สั่นสะ เทือนวงการก็เช่น Z10 ที่ลดจาก 20,900 บาทเหลือ 15,900 บาท และ Ativ S ที่ตัดราคาทีเดียวจาก17,900 บาท เหลือ 9,900 บาท
          เมื่อเทียบราคามือหนึ่งลด ราคามือสองก็ต้องเละ เหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่า ปัจจุบันมีมือถือใหม่เปิดตัวกันเดือนละหลายรุ่นนั่นเอง เมื่อรุ่นใหม่มา รุ่นเก่าก็ต้องปรับราคาลง บางคนจึงเริ่มหันมาหาสมาร์ทโฟนมือสองแทนเพราะซื้อแล้วไม่เจ็บตัวหนัก แต่การซื้อมือถือที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอาจจะมีความเสี่ยงหลายอย่างโดยเฉพาะกลุ่มสามาร์ทโฟนที่มีความซับซ้อน
          ตัวผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งที่เปลี่ยนมือถือบ่อย แน่นอนครับว่าเราต้องดูเครื่องเป็น แต่นอกจากการพิจารณารอยรอบเครื่องแล้ว ก็ยังมีเทคนิคส่วนตัวอีกหลายๆ ข้อที่เกิดจากประสบการณ์ตรงในการซื้อขายมือถือมือสองตามเว็บต่างๆบางอย่างอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงขอรวมไว้ 10 ข้อดังนี้

     1. อย่านัดไกลหรือที่ที่ไปไม่สะดวก

          ควรเลือกที่จะนัดซื้อขายมือถือตามเส้น BTS หรือตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เป็นหลัก และบางครั้งก็ยอมจ่ายแพงกว่า 100 – 200 บาท เลือกซื้อจากคนที่พร้อมจะดูเครื่องตามเส้นรถไฟฟ้ามากกว่าคนที่ขายราคาถูกกว่าเล็กน้อยแต่นัดเจอตามพื้นที่ไกลๆ ต้องขับรถไปหรือนั่งรถเมล์
เหตุผลหนึ่งก็คือความสะดวกครับ แต่ตัวผู้เขียนเองเคยเจอเทคนิคที่ล้ำลึกกว่านั้น พ่อค้าบางคนจะใช้วิธีหลอกเราเดินทางไปไกลๆ แล้วไม่ยอมออกมาเจอตัวจนกว่าเราจะยอดลดราคาเพิ่มให้     

     2. นัดในที่สว่างเพียงพอ

          แน่นอนครับว่า ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ แต่อีกเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในข้อ 2 นี้ก็คือในบางสภาพแสง เราจะเห็นรายละเอียดบางอย่างไม่ชัดเจนเช่น
          - รอยขนแมวบนฝาหลังที่มีลวดลาย
          - จุดเดทพิกเซลหรือรอยด่างบนจอภาพ
          - กล้องอาจมีปัญหา แต่ในสภาพแสงน้อยเราจะสังเกตไม่พบ 
          - และอื่น
          แสงไฟที่ดีที่สุดก็คือแสงไฟธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ครับ ส่วนไฟสีเหลืองตามร้านอาหารมักจะหลอกตา ทำให้เรามองไม่เห็นร่องรอยการใช้งาน ยิ่งเป็นจุดเล็กๆ อาจจะมองไม่เห็นเลย

     3. เตรียมซิมการ์ดไปให้พร้อม

          ปัจจุบันมือถือใหม่ๆ มักจะใช้ “ไมโครซิมฯ” ในขณะที่รุ่นเก่าๆ อาจจะยังเป็นซิมการ์ดขนาดใหญ่ และอย่าลืมไอโฟน 5 จะต้องใช้ซิมการ์ดขนาดเล็กพิเศษที่เรียกว่า “นาโนซิมฯ” ด้วยการที่ซิมการ์ดมีสามขนาด ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวทีเดียวครับ บางครั้งเรานัดเจอคนขายมือถือแบบกะทันหันและไม่ได้เตรียมซิมฯไป ทำให้ไม่สามารถทดลองโทรเข้าออกได้กว่าจะมารู้ตัวว่าภาครับสัญญาณเครื่องมีปัญหาก็ช้าเกินไปแล้ว

     4. การทดสอบไวไฟ

          อีกปัญหาที่มักมาพร้อมกับการจับสัญญาณมือถือก็คือการรับสัญญาณไวไฟ สมาร์ทโฟนบางรุ่นอย่างเช่นโซนี่ พบว่ามีอาการล็อคสัญญาณไวไฟได้แย่กว่าแบรนด์อื่นๆ และไอโฟน 5 บางล็อตก็มีอาการแบบนี้เช่นกัน
          ดังนั้นถ้าจะให้ดีเราควรจะนัดในห้าง หรือในบริเวณที่มีการปล่อยไวไฟให้ทดลองใช้ด้วย เพราะทุกวันนี้เราซื้อมือถือมาเพื่อเล่นเน็ตกันเยอะครับ การตรวจสอบเรื่องภาครับสัญญาณจึงเป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาด

     5. ตรวจสอบเฟิร์มแวร์และการล็อค

          สองอย่างนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับใครที่เป็นนักเล่นมือถือชั้นเซียน แต่สำหรับบางคนนัดเจอคนขายเครื่องมือสอง และพบว่าตัวเครื่องผ่านการ “รูท” หรือ “การแก้ไขไฟล์ระบบซิสเต็ม” มาแล้วครับ ดูภายนอกอาจจะไม่มีรอยขีดข่วนหรือตกกระแทกใดๆ แต่เครื่องที่ผ่านการ “รูท” หรือ “เจลเบรก” มาแล้ว อาจจะส่งผลให้หมดประกันศูนย์ และเราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเจ้าของเดิมได้ทำอะไรกับเครื่องมาบ้าง เพราะคนส่วนใหญ่ที่ “รูท” เครื่องมา มักจะลบบางโปรแกรมทิ้งหรือลงระบบปฏิบัติการใหม่ทับลงไปเอง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาระยะยาวได้สำหรับใครที่ไม่ได้มีความรู้เชิงเทคนิคมากนัก

     6. รอยซ่อนใต้ฟิล์ม

          พ่อค้าบางคนใช้กลวิธีตัดแผ่นกันรอยใหม่ทับไปบนจอที่มีรอยขีดข่วนอยู่แล้ว และอ้างว่า “เป็นแค่รอยบนแผ่นฟิล์มเท่านั้น” เมื่ออีกฝ่ายยืนยันแบบนี้ คนส่วนมากก็มักจะเชื่อ หรือไม่ก็ขี้เกียจลอกแผ่นกันรอยออกเพื่อตรวจสอบอย่างจริงจัง กว่าจะพบว่ามันเป็นรอยลึกบนจอก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว และอีกสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือสมาร์ทโฟนรุ่นแพงๆ ในปัจจุบันมักจะใช้กระจกกันรอยอย่างดี การที่มีรอยลึกบนจอใต้แผ่นฟิล์มก็มักจะแปลว่าเครื่องนั้นผ่านอะไรมาหนักกว่าที่เราคิดครับ

     7. ยืนยันเรื่องเครือข่าย

          สมาร์ทโฟนระดับบนสุดมักไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเครื่องราคากลางๆ ถึงราคาต่ำอาจจะต้องดูดีๆ ว่ามันรองรับเครือข่าย 3G แบบใดบ้าง เพราะบางรุ่นมีแยกเป็น 3G แบบ 850  [DTAC + True] และแบบ 900 [AIS] ตัวผู้เขียนเคยพบคนที่ลงประกาศขายในเว็บโดยที่ตัวเจ้าของเดิมเองก็ไม่ทราบด้วยซ้ำครับว่ามันเป็นเครื่องที่รองรับ 3G แบบไหน หากนัดเจอแล้วพบว่าไม่ใช่ 3G แบบที่เราต้องการก็อาจเสียเวลาเปล่าทั้งสองคน

     8. เครื่องนอกที่แนบเนียน

          แต่ก่อนเราสามารถแยกเครื่องศูนย์ไทยและเครื่องที่หิ้วมาอย่างผิดกฎหมายได้ด้วยการดูรหัสของซอฟต์แวร์ในเครื่องหรือดูว่ามันพิมพ์ไทยได้หรือไม่ ทว่าในปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถอัพเกรดซอฟแวร์ข้ามประเทศได้ง่ายๆ และสมาร์ทโฟนบางรุ่นก็รองรับภาษาแบบเครื่องเดียวทั่วโลก คือมีทุกภาษาครบเลย วิธีตรวจสอบอย่างหนึ่งที่พอจะใช้ได้ดีก็คือดูข้างกล่องครับว่าเป็นของประเทศไหน (ซึ่งรหัสซีเรียลนัมเบอร์ด้านหลังของเครื่องและข้างกล่องก็ต้องตรงกัน) และนอกจากนี้ตัวชาร์จแบบสองขาหรือสามขาก็สามารถบอกได้กลายๆ เช่นกันว่ามันคือเครื่องไทยหรือเครื่องนอก

     9. ร่องรอยที่มองไม่เห็น

          เดี๋ยวนี้เริ่มมีสมาร์ทโฟนที่กันน้ำได้ออกมามากขึ้นครับ และใครที่ซื้อมือถือประเภทนี้ไปก็คงอดไม่ได้ที่จะลองแช่น้ำดู ตัวอย่างหนึ่งที่เคยพบเจอมาก็คือ Xperia Z มือสองบางเครื่องมีปัญหาเรื่องลำโพงเสียงแตก ซึ่งเกิดจากการแช่น้ำนานๆ แล้วอาจจะมีไอน้ำหรือความชื้นเข้าไปภายใน กลายเป็นว่าเวลาตรวจสอบรุ่นนี้ ต้องลองเปิดเพลงดังๆ ดูด้วย หรืออย่างไอโฟน 5 ที่มักพบอาการเครื่องชื้นซึ่งสังเกตไม่เห็นจากภายนอกครับ

     10. อย่าส่งเงินให้จนกว่าจะมั่นใจ

          ตราบใดที่เงินยังอยู่ในมือเรา ก็คือเงินของเราครับ ก่อนจะยื่นเงินให้ควรจะต้องแน่ใจก่อนว่ามือถือเครื่องนั้นๆ ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ และหากเราเป็นผู้ขายก็ต้องระวังให้ดีว่าอีกฝ่ายจะไม่คว้าเครื่องวิ่งหนี เพราะบางทีฝ่ายผู้ซื้ออาจไม่ได้เตรียมเงินมา และขอตัวไปกด ATM ระหว่างที่เดินไปกดเงิน ควรจะถือเครื่องไว้ในมือเราก่อนจนกว่าจะได้รับเงินมาจริงๆ และอย่าลืมดูเรื่องกล่อง, อุปกรณ์มาตรฐาน, ของแถมที่คุยกันไว้ (เช่น มีเคสให้หรือใส่ไมโครเอสดีกี่ GB มาด้วย) 
          ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของวิธีดูเครื่องโดยตรง แต่ก็เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไป โดยเฉพาะกลเล็กๆ น้อยๆ อย่างการนัดไกลๆ ในเวลาค่ำๆ หรือการซ่อนรอยใต้ฟิล์มที่คนมักไม่สังเกต และเหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัย ดังนั้น อย่านัดไปเจอกันในที่เปลี่ยวหรือตามลานจอดรถ เพราะอีกฝ่ายอาจจะฉวยเครื่องขับหนีหรือใช้กำลังข่มขู่ชิงทรัพย์ได้ง่ายๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น