หลังจากที่ Sony ออก α 77 กล้องระดับเซมิโปรแบบตัวคูณออกมาในปี 2011 ทิ้งช่วงมานานถึง 2 ปีเศษ ๆ ก็ออกตัวแทนออกมาโดยที่ปรับรูปลักษณ์เพียงเล็กน้อย แต่ปรับปรุงระบบการทำงาน ระบบโฟกัส และเซ็นเซอร์ใหม่หมด โดยใช้ชื่อรุ่น Sony α 77 II เรามาดูกันว่า Sony α 77 II มีอะไรน่าสนใจและมีอะไรใหม่บ้าง
จุดเด่นของ Sony Alpha 77 II
- เซ็นเซอร์ Exmor CMOS ความละเอียด 24.3 ปรับปรุงให้ Microlens เป็นแบบ Gapless เพิ่มประสิทธิภาพในการเปิดรับแสง- ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดได้ถึง 12 ภาพต่อวินาที
- พื้นที่โฟกัสกว้าง 40 เปอร์เซ็นต์ของจอรับภาพ มีกรอบโฟกัสมากถึง 79 กรอบ และ 15 กรอบ ในแบบ Cross
- ถ่ายภาพเคลื่อนไหวทึ่ความละเอียดถึง 1080p 60 แบบ AF
- ช่องมองภาพแบบ Electronic เทคโนโลยี OLED เพื่อความสว่าง คมชัด และช่วงขอบเขตสีกว้างมากและให้ความละเอียดสูงถึง 2.4 ล้านพิกเซล
- จอ LCD หลังปรับพับได้ 3 ทิศทาง ความละเอียด 1.23 ล้านพิกเซล เพิ่มพิกเซลแสดงสีขาวเพื่อให้ภาพคมชัดแม้ถ่ายกลางแสงจ้า
- ตัดระบบ GPS ออก แต่ใส่ Wi-Fi และ NFC เข้ามาแทน
- ชุดชัตเตอร์ทนทานระดับ 150,000 ครั้ง ให้ความไวชัตเตอร์สูงสุด 1/8000 วินาที
- ช่วงความไวแสง ISO 100-25600 ขยายได้ถึง ISO 51200
- ปรับปรุงระบบ Auto ISO ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- เพิ่มระบบปรับแก้ความคลาดสีและขอบภาพมืดโดยอัตโนมัติ
- มีจอ LCD แสดงผลด้านบนตัวกล้อง
- ไมโครโฟนในตัวกล้องเป็นแบบ Stereo และมีช่องต่อไมโครโฟนภายนอกได้
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจาก Sony α 77
ระบบโฟกัสใหม่หมดจดSony α 77 II พัฒนาระบบโฟกัสใหม่หมดจด ด้วยชุดเซ็นเซอร์หาโฟกัสใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากและมีกรอบโฟกัสถึง 79 จุด กินพื้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ของช่องมองภาพมากที่สุดในขณะนี้ และใน 79 กรอบนั้น จะมีการวางเซ็นเซอร์หาโฟกัสแบบ Cross type 15 กรอบ และสามารถปรับตั้งได้หลากหลายรูปแบบทั้งแบบให้กล้องเลือกจุดโฟกัสให้เองทั้งหมด แบบโฟกัสเป็นโซน 9 โซน แบบเฉพาะจุดกลางเพียงอย่างเดียว แบบเฉพาะจุดที่ผู้ใช้เลือกตำแหน่งเอง ระบบ Expand Flexible Spot และระบบ Lock on Focus ทั้งหมดนี้ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพก่อนแล้วหาโฟกัสเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ ยิ่งถ้าเลือกกกรอบโฟกัสแบบ Expand Flexible Spot จะยิ่งสะดวกเพราะกล้องจะใช้กรอบโฟกัสที่เราเลือกเป็นหลัก และเสริมการทำงานอีก 8 กรอบรอบ ๆ จุดโฟกัสเพื่อหาโฟกัส คล้ายกับระบบโซนแต่ละเอียดกว่ามากหรือจะใช้ระบบ Face Detection หรือระบบ Eye Focus ซึ่งจะเน้นการโฟกัสไปที่ดวงตาเป็นหลักสำหรับการถ่ายภาพบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้สำหรับการใช้งานหลักทั่ว ๆ ไป
แต่สำหรับงานที่วัตถุมีการเคลื่อนที่ต่อเนื่องและเปลี่ยนทิศทางไปมา ระบบ Lock-on ของ Sony α 77 II ก็ยังสามารถปรับตั้งได้อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะทั้งกรอบกว้าง แบบโซน แบบเฉพาะจุด เฉพาะจุดที่ผู้ใช้เลือกตำแหน่ง ซึ่งเมื่อปรับตั้งแล้ว กล้องจะจำซับเจคและสี จากนั้นเมื่อซับเจคมีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากกล้องหรือมีการเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน กล้องจะสามารถปรับโฟกัสตามได้อย่างต่อเนื่องและฉับไว แถมยังสามารถปรับความเร็วในการแทร็คกิ้งของวัตถุได้อีกถึง 3 ระดับอีกด้วย ซึ่งความสามารถของระบบ AF ใน Sony α 77 II นี้มีความสามารถทัดเทียมหรือเหนือกว่ากล้อง DSLR แบบโปรที่ออกมาสำหรับงานถ่ายกีฬาโดยเฉพาะเลยทีเดียว
New Exmor Sensor 24.3 MP and New BIONZ X Processor
ถึงหน้าตาจะคล้ายของเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงหลักอยู่ในตัวกล้อง Sony α 77 II ใช้เซนเซอร์ Exmor CMOS ตัวใหม่ ใช้เทคโนโลยี Gapless Microlens ทำให้แสงส่งเข้าไปยังเซนเซอร์ได้มากขึ้นและไวแสงมากขึ้นกว่าเซนเซอร์ตัวเดิมถึง 20% เมื่อผนวกกับ BIONZ X Processor ที่ใช้ในกล้องตัวดังอย่าง Sony α 7 และ Sony α 7R ทำให้ความเร็วในการทำงานและประมวลผลภาพดียิ่งขึ้นไปอีก
โครงสร้าง
Sony α 77 II ยังคงใช้บอดี้ภายนอกร่วมกับ Sony α 77 ตัวเดิมต เพราะออกแบบมาได้ลงตัวมาก ๆ อยู่แล้ว โดยมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยได้แก่การเอาระบบ GPS ออกไปจากตัวกล้อง แต่ใส่ระบบ Wi-Fi และ NFC เข้ามาแทนที่ ตัดแสงช่วยหาโฟกัสสีแดงออกไปแล้วใช้แฟลชป๊อปอัพเป็นตัวยิงแสงช่วยหาโฟกัสแทน บนแป้นปรับระบบได้ตัดระบบถ่ายภาพพาโนราม่าแบบ 3D ออกไป และเพิ่มตำแหน่ง Memory Recall จากเดิมมีอยู่ 1 ตำแหน่ง เป็น 3 ตำแหน่ง และเปลี่ยน LCD ด้านหลังจาก 920,000 พิกเซล เป็น 1.23 ล้านพิกเซล โดยเป็นจอแบบ RGBW เพิ่มส่วนการแสดงสีขาวเพื่อให้มองภาพกลางแดดจัด ๆ ได้ง่าย และสุดท้ายคือการเปลี่ยนโลโก้ Alpha จากเดิมที่เป็นสีส้มเป็นสีเงินแทน ทำให้กล้องดูดุและจริงจังขึ้นอีกมาก
การแสดงผลของกล้อง
จอ EVF แบบ True Color OLED ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลที่เป็นจอมีความละเอียดสูงที่สุดในขณะนี้ ให้ความรู้สึกสบายตา เพราะขนาดภาพในช่องมองภาพใหญ่ราวกับมองจากล้องฟูลเฟรม และใสสว่างเป็นธรรมชาติ ไม่แพ้การมองผ่าน Optical Viewfinder แบบปกติและการที่เป็นจอแบบ EVF ทำให้เราสามารถเข้าถึงการแสดงผลต่าง ๆ ได้เหมือนกับการมองจอหลัง นั่นคือถึงจะยกกล้องอยู่ในระดับสายตาแต่ก็ยังเข้า Quick Menu เพื่อปรับตั้งการทำงานของกล้องได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องละสายตาออกมาจากช่องมองเลย และยังสามารถแสดง Live Histrogram และผลของการปรับตั้งค่าการเปิดรับแสงได้ในช่องมองภาพอีกด้วย
จอ LCD หลังกล้องเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการปรับปรุง การเพิ่มพิกเซลแสดงสีขาวเข้าไปในจอทำให้ความละเอียดจากจอ LCD TFT ความละเอียด 920,000 พิกเซล RGB กลายมาเป็นจอ LCD TFT 1.23 MP RGBW การเพิ่มพิกเซล W เข้าไปไม่ได้ช่วยเรื่องของความละเอียด แต่เป็นการช่วยเรื่องการแสดงผลของจอ LCD ให้สู้กับแสงได้มากขึ้น ทำให้การถ่ายภาพแบบ Liveview ในตอนกลางวันสะดวกมากขึ้น ไม่ต้อง “เดา” ว่าภาพจะมีองค์ประกอบภาพที่ครบหรือถูกต้องแค่ไหนอีกต่อไป และ Sony α 77 II ยังคงความสามารถของจอที่พับปรับตำแหน่งได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะปรับสูง ต่ำ ก้ม-เงย ซ้าย-ขวา แม้แต่การพับหน้าจอมาด้านหน้ากล้องเพื่อถ่ายตัวเองก็สามารถทำได้ด้วย
ระบบการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi และ NFC
Sony α 77 II ตัดสินใจเอาระบบ GPS ที่อยู่ในตัวกล้องออก และใส่ระบบ Wi-Fi และ NFC เข้าไปแทน โดยใช้งานร่วมกับ Apps Play-Memories ของโซนี่ ซึ่งรองรับโทรศัพท์แบบ Smart Phone ได้ทั้ง iOS และ Android เพิ่มความสะดวกในการถ่ายดอนไฟล์และควบคุมการทำงานของกล้องด้วยโทรศัพท์มือถือ
ที่มา : sony.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น