วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

4G LTE จำเป็นต่อชีวิตคนไทยจริงหรือ


          ส่องมุมมองเซียนแวดวงมือถือ วิเคราะห์อนาคต 4G ในไทย พร้อมไขข้อข้องใจ ถึงเวลาต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่รองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตแล้วหรือยัง
          แม้ว่าเรื่องคูปองสำหรับซื้อกล่องรับสัญญาณการออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอล หรือเซตท็อป  บ็อกซ์ จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน แต่ดูเหมือนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ [กสทช.] จะเครื่องร้อน เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม [กทค.] ได้เตรียมวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวไกล ถึงขนาดมีการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 4G ไว้ที่ 11,600 ล้านบาท เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการได้ช่วงชิงเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำไปให้บริการ 4G LTE กันแล้ว
          ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้หลายคนเกิดความสงสัย ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือ กับเทคโนโลยีรูปแบบดังกล่าว แล้วสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ที่เพิ่งแห่ซื้อเพื่อนำมาใช้ 3G นี่ล่ะ มันรองรับ 4G ได้ไหม หรือต้องเปลี่ยนเครื่องให้ทันสมัยกับเทคโนโลยีใหม่อีกครั้ง
          จากมุมมองของผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งกำลังเร่งเครื่องทำตลาดสมาร์ทโฟนราคากลางและไฮเอนด์ ออกมาทำตลาดอย่างแข็งขัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อของทุกท่าน และอีกหนึ่งเสียงจากฟากของ กูรูที่รู้ลึกรู้จริงในแวดวงมือถือ
          เริ่มต้นที่ “ญาณธน สิมะวานิชกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเกีย [ประเทศไทย] จำกัด แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า โนเกียตระกูลลูเมีย มีรุ่นที่รองรับเทคโนโลยี 4G ตั้งแต่ในรุ่นลูเมีย 820 ขึ้นไป ซึ่งสามารถรองรับคุณสมบัติการใช้งานของเทคโนโลยี 4G ในทุกเครือข่ายของประเทศไทยอย่างแน่นอน

     ซื้อ 13,000 บาท มือถือพร้อมใช้ 4G

          เนื่องจากความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเพื่อรองรับการใช้งาน 4G ในขณะนี้ยังมีไม่มากนัก ซึ่งเชื่อว่าหากอนาคตมีการเปิดใช้บริการดังกล่าวก็จะทำให้ราคาเครื่องนั้นลดลงได้อีกเล็กน้อย แต่ปัจจุบันราคาสมาร์ทโฟนของโนเกียที่รองรับเทคโนโลยี 4G มีเริ่มต้นอยู่ที่ราว 15,000 บาท ส่วนในตลาดกลางนั้น คาดว่าอยู่ที่ราวๆ 13,000-15,000 บาท

     4G รอดหรือร่วงต้องติดตาม

          ความนิยมของบริการ 4G นั้น ถือเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้งานและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ แต่ปัจจุบันมองว่า 3G ยังเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า 4G จะไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทย เพราะหากมีเทคโนโลยีดังกล่าวพร้อมให้บริการก็จะต้องมีความต้องการใช้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

     เล็งพัฒนาทีเด็ดรับ 4G

          โนเกียมีแผนพัฒนาสมาร์ทโฟนเพื่อรองรับความต้องการใช้งานของผู้บริโภค และแน่นอนว่าจะต้องมีรุ่นเรือธง ที่เป็นรุ่นหลักออกมาตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้บริโภคในเร็วๆ นี้ แต่ขณะนี้ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ ซึ่งจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนในตระกูลลูเมียหลายรุ่น ตั้งแต่ระดับกลางจนถึงไฮเอนด์ในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้โนเกียกลับมามีโอกาสที่ดีในตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งเราจะพัฒนาสินค้าที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป

     เลือก-ซื้อ-ใช้ ให้คุ้มค่า

          คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟน รวมถึงมือถือเพื่อรองรับเทคโนโลยี 4G คือ การพิจารณาความต้องการใช้งานเป็นหลัก ควรคำนึงถึงการใช้ว่าตนเองใช้งานเสียงหรืออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก พร้อมทั้งควรปรึกษาผู้ให้บริการเครือข่ายด้วยว่า พื้นที่ที่ต้องการใช้งานนั้นมีบริการ 4G รองรับหรือไม่
          ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านมือถืออย่าง “ปีเตอร์ กวง” พูดจาตรงไปตรงมาแบบไม่อ้อมค้อมว่า “4G ยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย” ในระดับทั่วไป มองว่าเทคโนโลยี 4G ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น แน่นอนว่า จะทำให้สมาร์ทโฟนราคาถูกหรือราคากลางมารองรับเทคโนโลยี 4G นั่นก็เป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันยังคงมีเฉพาะสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์เท่านั้น ที่รองรับเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่การใช้งานก็ยังจำกัดอยู่แค่บางพื้นที่ โดยเฉพาะเขตใจกลางกรุงเทพฯ เท่านั้น

     ไม่จำเป็นต้องรีบหามือถือใหม่

          ถ้าถามว่าจำเป็นต้องซื้อมือถือหรือแท็บเล็ตที่รองรับเทคโนโลยี 4G ในตอนนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องก็ได้ เพราะการใช้งานนั้นยังไม่รองรับในวงกว้าง แม้ว่าราคาแพ็กเกจการใช้งานจะไม่แตกต่างกับบริการ 3G มากนักก็ตาม

     ค่ายไหนเปิด 4G ก่อน เป็นได้เปรียบ

          ในส่วนของผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องมีความเสถียรในการใช้งานก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเชิงพาณิชย์ แต่ส่วนตัวมองว่า การเปิดให้บริการก่อนนั้น ถือเป็นความได้เปรียบประการหนึ่ง เนื่องจากผู้บริโภคจะมองแค่ว่า ค่ายไหนที่มีบริการพร้อมให้ใช้ เพราะเขาต้องการเทคโนโลยี ดังนั้นการเปิดบริการก่อน-หลังก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

     รุ่นใหม่ๆ พร้อมรองรับแล้ว

          หากนับสมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติรองรับ 4G ยี่ห้อดังๆ รุ่นใหม่ๆ ก็จะมีรองรับแทบทั้งหมดแล้ว แน่นอนว่ายี่ห้อไอโฟน ซัมซุง โนเกียก็มี เรียกว่ายี่ห้อหลักๆ มีออกมาหลายรุ่นแล้ว

     อีก 2-3 ปี เห็นอนาคต 4G

          สำหรับความนิยมในการใช้งาน 4G เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี เพราะนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีใหม่แล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้น จากการใช้งานสมาร์ทโฟน ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้การใช้งานด้วย ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงเรื่องจำนวนเครื่องที่รองรับการใช้งานด้วย เพราะหากมีเครื่องหลากหลายรุ่น ที่รองรับการใช้งานแต่พื้นที่ในการให้บริการยังไม่มากพอ ก็ไม่สอดคล้องกัน

     ทั่วโลกใช้คลื่น 1800 MHz

          หากมีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำมาให้บริการ 4G ในประเทศไทยนั้น มองว่าควรนำคลื่นความถี่1800เมกะเฮิรตซ์ มาใช้ให้บริการดังกล่าว เนื่องจากมีความเหมาะสมและเป็นทิศทางเดียวกับทั่วโลกที่ใช้รูปแบบดังกล่าว

     รู้จักคุณสมบัติ 4G หรือยัง

          เทคโนโลยี 3G นั้น รองรับการใช้งาน 2 รูปแบบ คือ เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและใช้งานเสียงสำหรับการโทร ซึ่งนั่นคือความแตกต่างระหว่าง 3G และ 4G เพราะ 4G จะถูกนำไปใช้เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือหรือแท็บเล็ตเท่านั้น ถือเป็นข้อจำกัดเรื่องการใช้งานพร้อมกัน ในการเล่นเน็ตและโทรอีกด้วย ปัจจุบันจึงเห็นการพัฒนาวอยซ์ โอเวอร์ แอลทีอี (Voice Over LTE) เพื่อให้รองรับการใช้งานแบบควบคู่กันได้ทั้งอินเทอร์เน็ตและการใช้งานเสียง ซึ่งจะกลายเป็นภาระของผู้ให้บริการเครือข่าย เพราะจำเป็นต้องเพิ่มเงินลงทุนในการพัฒนาคุณสมบัติในการให้บริการด้วย

     3G เหมาะกับคนไทยที่สุด

          พูดตามตรงก็คือ คนไทยเหมาะกับการใช้งาน 3จี เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งบริการเสียงและอินเทอร์เน็ต ขณะที่ 4G ควรจะเป็นเทคโนโลยีเสริม สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเข้ามาเพิ่มในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น หรือเพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น หัวเมืองในต่างจังหวัด หรือใช้เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและข้อมูล

     เช็กยังไง เครื่องไหนรองรับ 4G

          วิธีที่เช็กได้ง่ายที่สุด คือ การพลิกดูข้อมูลข้างกล่องหรือคู่มือในกล่อง แต่ไม่ใช่ดูแค่ว่ารองรับเทคโนโลยีแบบใด 3G หรือ 4G ต้องดูด้วยว่าเป็นการรองรับ 3G บนคลื่นความถี่ใด อีกวิธีที่ง่ายกว่าการดูข้อมูลด้วยตนเอง ก็คือการสอบถามจากผู้ขาย ซึ่งปัจจุบันผู้ขายส่วนมากจะสามารถให้ข้อมูลสินค้ากับลูกค้าได้ค่อนข้างละเอียด อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานต้องตรวจสอบกับเครือข่ายของตนเองด้วย ว่าเครือข่ายของตนเองนั้นรองรับเทคโนโลยีไหน บนคลื่นความถี่ใด หรือจะตรวจสอบรุ่นและยี่ห้อที่รองรับจากตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถทำได้ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานอย่างคุ้มค่า
          หลายคนอาจมองว่า เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เราไม่เคยวิ่งตามได้ทัน มีแต่ทำให้เราต้องจ่ายเงินครั้งละหลายพัน หรือหลายหมื่น เพื่อดันให้ตัวเองเข้าใกล้เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านั้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง คุณจะเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านั้น อาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสและช่วยสนับสนุนให้คุณมีอนาคตที่ดี หากคุณใช้มันได้ถูกต้องถูกทาง ซึ่งนั่นหมายถึงความคุ้มค่าในการใช้งาน เพราะหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง หรือไล่ตามความทันสมัยของพวกมันแล้วล่ะก็ คุณก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทกำลังทรัพย์เพื่อซื้อหามันมาครอบครอง เชื่อเถอะว่า แค่ซื้อมาถือในมือโชว์โก้ โชว์รวยน่ะ มันไม่คุ้มหรอก  เอาเงิน เอาเวลาที่เสียไปนั้น มาทำให้ชีวิตเป็นสุขด้วยวิธีอื่น น่าจะเวิร์กกว่าเยอะ!

ที่มา : thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น