วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

5 วิธีป้องกันไอโฟนช็อต กาแล็คซี่ระเบิด

5 วิธีป้องกันไอโฟนช็อต กาแล็คซี่ระเบิด


 
 
          เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อสมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งระบบแอนดรอย์อย่าง Galaxy S4 ระเบิดขึ้นมาเองกลางดึกตอนตีสอง เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าของเครื่องเองก็ตื่นขึ้นมาพอดี จึงไม่มีเหตุการณ์ร้ายตามมา
            แต่อีกข่าวที่ดังกว่าคดี Galaxy ระเบิดก็คือกรณีที่ iPhone 5 ช๊อตแอร์สาวชาวจีนจนถึงแก่ความตายขณะที่รับสายพร้อมกับชาร์จไฟ (เบื้องต้น แหล่งข่าวรายงานว่าเป็น “iPhone 5” แต่ภายหลังตรวจสอบ ตำรวจพบว่าเป็น iPhone 4)

            แม้เครื่องหนึ่งจะเป็นไอโฟนและอีกเครื่องเป็นซัมซุง แต่สิ่งที่เหมือนกันในสองคดีคราวนี้คือ “เกิดเรื่องขึ้นขณะชาร์จไฟ” ครับ โดยคดีแรกอาจจะยังไม่หนักหนาสาหัส และไม่มีใครตายหรือว่าบาดเจ็บ
            ทว่าคดีหลัง ผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบินไซนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ที่เพิ่งจะอายุได้เพียง 23 ปีที่มีกำหนดการเข้าพิธีวิวาห์ในอีก 10 วันข้างหน้า หากไม่ใช่เพราะว่าเธอต้องมาจบชีวิตลงเสียก่อน
            ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเราคือ 220 โวลต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อันตรายทีเดียว เพราะว่าถ้า “220โวลต์” วิ่งเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เราโดยตรงก็คงถึงแก่ความตายได้ง่ายๆ และเมื่อมองไปยังสมาร์ทโฟนที่ชาร์จไฟทิ้งไว้บนเตียงเป็นไปได้ไหมว่าผู้เคราะห์ร้ายรายต่อไปอาจเป็นเรา
            ก่อนจะเกิดคดีต่อไปในไทย ผู้เขียนก็ขอรวมรวบวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาการชาร์จไฟไม่ให้ช๊อต ใช้แบตเตอรี่ไม่ให้ระเบิดเอาไว้ตรงนี้ครับ
          1. ใช้แต่ชาร์จเจอร์และอุปกรณ์เสริมที่ได้มาตรฐาน
             แน่นอนครับว่าข้อนี้สำคัญที่สุด ผู้เขียนเองเคยได้รับฮาร์ดดิสก์จากจีนความจุหลักร้อย GB แต่พอใช้งานจริงกลับพบว่ามีพื้นที่แค่ 128 MB เมื่อแกะเครื่องดูก็พบว่าภายในฮาร์ดดิสก์ไม่มีอะไรเลยนอกจากแฮนดี้ไดรฟ์หนึ่งอัน เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกเลยทีเดียวแต่อย่างน้อยฮาร์ดดิสก์ก็ไม่ทำอันตรายใคร ตรงข้ามกับสายชาร์จปลอมที่มีข่าวระเบิดและช๊อตให้ได้ยินเป็นระยะๆ และสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคมองข้ามไปก็คือในคู่มือที่ติดมากับเครื่องตอนซื้อ มักจะมีเขียนบอกไว้อยู่แล้วว่า “ห้ามใช้งานร่วมอุปกรณ์เสริมปลอม” ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ตรงนี้อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตปัดความรับผิดชอบได้ เพราะเราเลือกที่จะใช้งานผิดวิธีจริงๆ นั่งเองหลายๆ คนที่ซื้อมือถือใหม่มาอาจมองว่าสบายๆ เพราะในกล่องก็มีชาร์จเจอร์แท้มาให้อยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ของปลอมเลย แต่อาจลืมไปว่ามันยังมีอุปกรณ์เสริมปลอมอื่นที่เรามักจะซื้อโดยไม่รู้ตัว อาทิ
                    - สาย USB สำหรับต่อคอมพิวเตอร์ : บางคนรู้สึกว่าเดิมสั้นไปหรือยาวไป จึงซื้อสายแบบเล็กๆ ยืดหดได้หรือไม่ก็สายพิเศษ ความยาว 3 เมตร ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานจริง แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เคยใช้สายแบบดึงและหดกลับเองเพราะสะดวก จนวันหนึ่งพบว่าไฟชาร์จเข้าช้าผิดปกติ และการส่งไฟล์เข้าคอมพิวเตอร์ผ่านสายแบบนี้ก็มีปัญหาบ่อย จึงเลิกใช้ในที่สุด
               - สายชาร์จในรถ: ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่แต่มักจะยิ่งโดนมองข้าม ทั้งที่คนส่วนมากมักจะเสียบชาร์จทิ้งไว้ หรือไม่ก็โยนไว้ในรถที่ตากแดดจัดๆ เป็นเวลานานๆ ด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าความร้อนอาจจะทำให้สายเสื่อมสภาพหรือกรอบแตกได้เลย
              - สายชาร์จแบตเตอรี่เสริม [PowerBank] : ในยุคที่แบตเตอรี่พัฒนาไล่สมาร์ทโฟนไม่ทัน ทำให้แบตเตอรี่พกพาที่ไม่ได้มาตรฐานล้นตลาดบ้านเรา แน่นอนว่าสายชาร์จก็ติดมาในกล่องก็อาจเสี่ยงต่อการช๊อตหรือการระเบิด บางครั้งเราก็อาจจะเผลอเอามาชาร์จมือถือด้วยโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก
               - แบตเตอรี่ปลอม :  ก้อนแรกที่ติดมากับเครื่องยังไงก็ใช่ของแท้แน่ แต่บางคนอาจอยากได้ก้อนที่สอง หรือบางทีร้านที่เราซื้อมา อาจจะมีโปรโมชั่นแถมหรือแลกซื้อแบตเตอรี่เพิ่มเติม ทว่าเราจะมั่นใจได้รึไม่ครับว่ามันไม่ใช่ระเบิดเวลา
            2. ถอดอุปกรณ์เมื่อไฟเต็ม
            จริงอยู่ที่ว่าเมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้ว ระบบส่งไฟทั้งหมดจะถูกตัด แต่นั่นก็คือกรณีที่ทั้งตัวเครื่องและอุปกรณ์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100% ทว่าเพื่อความปลอดภัยสูงสุด หากเป็นไปได้เมื่อชาร์จไฟเต็ม เราก็ควรจะถอดปลั๊กออก นอกจากนี้การถอดสายชาร์จเมื่อไฟเต็มก็ยังช่วยโลกประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง
           ส่วนใครที่ชอบชาร์จมือถือทิ้งไว้ข้ามคืนยิ่งต้องระวัง ยิ่งบางคนเสียบสายไว้แล้ววางบนเตียงหรือโต๊ะเครื่องแป้งที่ทำจากไม้ หากเกิดประกายไฟลุกไหม้ขึ้นมา ความเสียหายก็อาจจะยิ่งมากขึ้นได้ เหมือนในกรณีที่อยู่  Galaxy s4 ก็เกิดการระเบิดขึ้นเองตอนตีสองในคดีข้างต้นครับ
            3. เสียบสายชาร์จตามลำดับ
            เริ่มจากเสียบตัวกล่องชาร์จไฟเข้าไปที่เต้ารับของบ้านก่อน แล้วค่อยเอาสายมาเสียบกับสมาร์ทโฟนของเรา เพื่อป้องกันเหตุ ในกรณีชาร์จเจอร์มีปัญหาจะได้ไม่มีไฟไหลเข้าสู่มือถือเรานั่นเอง และในกรณีที่เกิดการระเบิดจริงสิ่งที่พังก็จะมีแต่กล่องชาร์จไฟ ไม่ใช่สมาร์ทโฟนหรือมือของเราคับแต่ถึงอย่างไรก็ต้องตรวจสอบตัวกล่องชาร์จไฟให้ดีก่อนจะเสียบเข้ากับเต้ารับด้วยว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่
            4. หากเกิดเหตุผิดปกติ ให้เลิกใช้งาน
             อย่าฝืนใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟ หากเห็นว่ามันเริ่มออกอาการไม่ดี เช่น มีสียงครืดๆ เหมือนไฟฟ้าวิ่งดังๆ  เกิดประกายไฟระหว่างชาร์จ มีกลิ่นเหม็นไหม้ ขาปลั๊กโยกเยกหรือเอียง ตัวสายมีรอยถลอก ฉีกขาด โดนแทะ หรือเห็นไส้ทองแดงข้างใน รวมทั้งการเสียบชาร์จเจอร์เข้ากับปลั๊กไฟบางประเภทที่ไม่เหมาะ เช่น ชาร์จเจอร์ขากลม ซึ่งมักจะเสียบกับเต้ารับในไทยและโยกคลอนได้ บางครั้งจะเห็นกระแสไฟสปาร์คเพราะมันหลวม ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าไม่ค่อยเหมาะเท่าไรครับ
              5. อย่าชาร์จไฟไปใช้งานไป
              ข้อนี้สำคัญมากทีเดียวครับ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวนี้หลายๆคนมีนิสัยชาร์จไฟไว้และใช้งานไปด้วย แต่อาจจะไม่ได้ใช้สนทนา ทว่าใช้เล่น Facebook บ้าง หรือเข้า www เพราะตัวผู้เขียนเองก็มีนิสัยแบบนี้เช่นกัน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนทำอะไรมากขึ้น จนเราเริ่มจะขาดมันไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว และยิ่งเล่นมือถือหนักก็ต้องชาร์จกันทุกวัน สุดท้ายจึงต้องชาร์จไฟไปใช้งานไปจนได้ แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงจะดีกว่านะครับ
              5 ข้อนี้ เป็นวิธีง่ายๆ ในการเลี่ยงปัญหามือถือระเบิดหรือไฟช๊อต แต่ถ้าใครโชคร้ายเจอเรื่องแบบนี้เข้ากับตัวจริงๆ ก็แนะนำว่าอย่าไปรื้อ ไปหาทางแก้ปัญหาเอง แต่ให้ส่งเครื่องเข้าศูนย์เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปแทนจะดีกว่านะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น